Dynamic Range คืออะไร
Dynamic Range ของกล้อง คือ ความสามารถของกล้องที่สามารถเก็บรายละเอียดในส่วนที่สว่างที่สุดและส่วนที่มืดที่สุดได้
กล้องที่มี Dynamic Range (DR) หรือช่วงการรับแสงที่กว้างนั้น จะมีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง ซึ่งสอดคล้องกับสไตล์การถ่ายภาพของผม ที่เรียกว่า Wedding Photojournalism ที่เป็นแนวการจับจังหวะอารมณ์ ,เล่าเรื่อง, เล่น Gimmick ในภาพ และสร้างเรื่องราวจากภาพถ่ายเป็นสำคัญ
ผมเลือกใช้ Mode A + Auto ISO ที่สามารถกดชัตเตอร์ได้ทันทีไม่ว่าตาจะมองในช่องมองภาพหรือไม่ ไม่ต้องคอยพะวงเรื่องการวัดแสงอย่างเช่นโหมด Manual แต่บางครั้งก็อาจจะได้ภาพที่โอเวอร์ พอดี หรือติดอันเดอร์ไปบ้าง ซึ่งถ้ากล้องมี DR สูง มันก็จะเก็บรายละเอียดได้กว้าง และนำมาปรับแต่งต่อใน Software อย่างเช่น Lightroom ได้ง่าย
ที่มาของภาพด้านบน คือ ไฟ Follow ส่องลงที่ชุดของเจ้าสาวเป็นจุดเล็กๆ ทำให้มีความแตกต่างของแสงมาก ระหว่างชุดที่โดนแสงไฟกับใบหน้าของเจ้าสาว … สิ่งที่เราสามารถทำได้ (หากกล้องมี DR ต่ำ) ก็คือเลือกเอาว่าจะชดเชยแสงให้ใบหน้าได้รับแสงพอดี แล้วปล่อยให้ชุด Burn over ขาดรายละเอียดไป หรือจะเก็บรายละเอียดของจุดสว่างที่ชุดไว้ ยอมให้ภาพติดอันเดอร์แล้วไปแก้ใน Software ในภายหลัง ซึ่งจะไม่ได้ผลดีมากนักเพราะจะเกิด Noise มาก
หากกล้องเรามี DR สูง เราสามารถเก็บรายละเอียดที่ชุดเอาไว้ แล้วค่อยไปปรับแสงใน Software ได้อย่างง่ายดาย ดังเช่นภาพด้านบนเป็นต้น … ที่มาของภาพนี้คือผมตั้งโหมด Highlight weight เอาไว้เพื่อเก็บรายละเอียดของชุด โดยยอมให้ภาพโดยรวมอันเดอร์ไปบ้าง แล้วค่อยมาปรับเอาใน Software อีกที ซึ่งการทำแบบนี้ช่างภาพต้องรู้จักข้อจำกัดของกล้องตัวเองก่อน เพราะกล้องยี่ห้อเดียวกัน ถ้าต่างรุ่นกันก็อาจมี DR ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นควรทดสอบก่อนใช้งานเสมอ
ภาพที่ผ่านการแก้ไขเรียบร้อยแล้วดังภาพด้านบน ก็ไม่ใช่ภาพที่เนี้ยบมากเมื่อเทียบกับการถ่ายภายใต้แสงที่ดี ค่า ISO ที่ดี ค่าการเปิดรับแสงที่ดี ไม่ต้องเอามาขุดมาซ่อม แต่ในเมื่อเราอยู่ในภาวะที่เลือกไม่ได้ เวลามีแค่ 1-2 วินาที ที่เหตุการณ์นี้จะหายไป เราทำได้แค่เก็บภาพนั้นมาให้ดีที่สุดเท่านั้น ซึ่งจากภาพที่ได้ ผมคิดว่ามันค่อนข้างโอเคมากสำหรับการ “ขุด” ถึง 5 Stop และ “ซ่อม” ด้วย Brush , Radial filter และ Gradient filter อีกหลายขนาน
ในภาพด้านบนจะซูมให้เห็นถึง Skin tone และ Noise หลังจากที่ปรับแก้เรียบร้อยแล้วจะเห็นว่า ภาพยังคงคุณภาพที่ดี แม้จะเพิ่ม Exposure ขึ้นมาถึง 5 Stop + Brush + Radial filter เฉพาะจุดแล้วก็ตาม ผมยอมรับเลยว่าครั้งแรกที่ทดสอบ D750 เมื่อหลายปีก่อนนั้นค่อนข้างตกใจ เพราะไม่คิดว่าเมื่อดึงความสว่างขนาดนี้แล้ว สีกับคอนทราสต์ยังดีมากอย่างไม่น่าเชื่อ (ดู Dynamic range ของ Nikon D750)
ภาพนี้ถูกถ่ายด้วยกล้องรุ่นเล็กอย่าง Nikon D7200 ซึ่งถือได้ว่าเป็นเล็กพริกขี้หนู เพราะนอกจาก DR จะสูงมากไม่ธรรมดาแล้ว ยังมีสีสัน Skin tone ภายใต้แสงน้อยๆ สวยงามมากอีกด้วย
สรุป
Dynamic Range ของกล้องที่สูงนั้น ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น ในบางครั้งเราจำเป็นจะต้องเก็บรายละเอียดของ Highlight เอาไว้ แล้วจึงนำภาพกลับมาแก้ไขใน Software ในภายหลัง ซึ่งเคสแบบนี้จะทำได้ไม่ดีนักในกรณีที่กล้องมี DR ต่ำ … เพราะฉะนั้นการทำงานในระดับอาชีพ ช่างภาพจำเป็นต้องรู้จักอุปกรณ์ของตัวเองให้ดี ว่าขีดจำกัดเรื่อง DR นั้น มีมากน้อยแค่ไหน
กล้องในยุคสมัยปัจจุบันนั้นพัฒนาด้าน DR ดีกว่ายุคแรกๆ มาก เหลือเพียงช่างภาพที่จะทำความเข้าใจมัน และประยุกต์ใช้งานคุณสมบัติของมันให้สามารถสร้างงานดีๆ ออกมาเท่านั้นครับ ส่วนใครที่ใช้กล้องใน Gen แรกๆ ก็ลองศึกษาและทดสอบดูนะครับว่า DR กล้องของเรานั้นมีขีดจำกัดอย่างไร ใช้งานได้แค่ไหน ฯลฯ
แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ
อ้างอิง : บทความ What is dynamic range? ของ Adobe
www.instagram.com/chanarthip
Tonnamlamtan.Com
089-117-8256
Comments are closed.