รีวิว Nikon D750
Dpreview Gold Award

Last update : Jan, 2024

รีวิว Nikon D750

In Short :
– Dslr ที่สมดุลย์ อึด ถึก ทน ไฟล์สวย skin ใส dr สูง
– รีวิว Nikon Z6 / Z6ii  เทียบกับ D750 คุ้มค่าคุ้มราคา

ผมซื้อ Nikon D750 มาใช้ถ่ายงาน Wedding ตั้งแต่ปี 2015 วันนี้ก็เลยจะรีวิวการใช้งานแบบ Long term ให้ฟังว่าการใช้งานเป็นอย่างไร คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับช่างภาพที่กำลังสนใจกล้องรุ่นนี้อยู่นะครับ

0133 web
Nikon D750 + 50 f/1.4

Nikon D750 เป็นกล้องที่ผลิตมาตั้งแต่ปี 2014 มันได้รับความสนใจจากช่างภาพ Wedding เป็นอย่างมาก สิ่งที่ทำให้มันโดดเด่น และเหมาะสำหรับการทำงานด้านนี้ คือ “ความสมดุลย์” ซึ่งตัวมันเองประกอบไปด้วยข้อดีหลายด้าน แต่ละด้านสนับสนุนการทำงานของช่างภาพสาย Wedding ได้อย่างน่าประทับใจ นั่นจึงทำให้คนที่ได้ลองใช้มัน จะรู้สึกได้ว่า มันเป็น DSLR ที่เหมาะกับการทำงานสายนี้

เดิมทีผมไม่ได้ใช้ Nikon นะครับ แต่วันหนึ่งบังเอิญไปเจอบทความรีวิวอันนี้ ->  “Nikon D750 Review: Nikon… You’ve Created a Monster” ซึ่งตอนนั้น D750 ก็ออกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังจากที่อ่านบทความจบ .. ด้วยความสงสัยว่ากล้องมันจะทำได้ขนาดนั้นจริงหรือไม่  ทำให้ผมตัดสินใจซื้อ D750 + 24-120 f/4 + 50 1.4G เซตแรกมาทดสอบด้วยตัวเอง เพราะคิดว่าถ้ามันเป็นอย่างที่บทความเขียน .. มันจะทำให้ผมทำงานได้ง่ายขึ้น … นั่นจึงเป็นที่มาของการใช้งาน D750 ทีนี้มาดูว่า มันมีอะไรดีกับช่างภาพแต่งงานกันบ้าง …

Exposure Latitude / Dynamic Range (DR)
สิ่งที่โดดเด่นเป็นอย่างมากของ D750 คือ ช่วงการรับแสงที่กว้าง จากตัวอย่างภาพด้านล่างที่แสดงให้เห็น เป็นการเพิ่ม Exposure ไปถึง 5 stop ใน Basic adjustment และเพิ่มใน Gradient อีก 2.50 stop รวมเป็น 7.50 stop และยังคงให้คุณภาพของภาพที่อยู่ในเกณฑ์ใช้งานได้ .. / รีวิว nikon d750

รีวิว Nikon D750
แสดงการเพิ่ม Exposure ใน Basic panel และ Gradient tools

จริงๆ แล้วความสามารถนี้ ไม่ควรถูกนำออกมาใช้บ่อยๆ การที่กล้องมีความสามารถที่จะทำได้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความสามารถนี้ของมันก็ได้ สิ่งที่เราควรทำคือการถ่ายภาพออกมาให้ดีที่สุดจากกล้อง และใช้เวลากับคอมพิวเตอร์ให้น้อยที่สุด …

ในการทำงานระดับ “อาชีพ” นั้น … ผมคิดว่าคงไม่มีช่างภาพท่านใดจะถ่ายภาพผิดพลาดเกิน 3 Stop กันเป็นประจำ แต่สิ่งที่ D750 ให้มานั้น มันก็เหมือนประกันอุบัติเหตุ ที่ไม่มีใครอยากใช้ แต่มีไว้ก็อุ่นใจกว่า ซึ่งเจ้า D750 ก็ทำให้คุณอุ่นใจในเวลาทำงานเสมอ …

รีวิว Nikon D750
Before & After ของภาพที่ดึงขึ้นมา 5 + 2.50 = 7.50 Stop

ที่มาของภาพด้านบนก็คือ ผมตั้งระบบวัดแสง Highlight Weight ค้างอยู่แล้วกดชัตเตอร์ภาพแรกก็ได้มาแบบที่เห็น หลังจาก ชอตนี้ผมก็เปลี่ยนไปเป็นวัดแสงแบบ Matrix แล้วก็ถ่ายตามปกติ โชคดีที่ไม่ได้ลบภาพนี้ทิ้งไป ลองเอากลับมาปรับดู ก็ได้เห็นความสามารถของมันเลยเก็บไฟล์นี้เอาไว้บรรยาย ลองเข้าไปดูผลการทดสอบของ D750 ในเว็ป Dpreview ตาม Link ที่ผมแนบนี้ และจะเห็นว่าสิ่งที่ได้พิมพ์ไป ไม่ได้เกินกว่าความสามารถจริงๆ ของมัน

http://www.dpreview.com/reviews/nikon-d750/14

ผมคิดว่า Nikon น่าจะออกแบบระบบการวัดแสง Highlight Weight มาให้สัมพันธ์กับความสามารถของกล้อง ก็เพราะว่าได้ออกแบบให้มัน “ขุด” ได้แบบนี้ ใครเคยใช้ระบบวัดแสงนี้จะรู้ว่า มันจะเก็บรายละเอียดที่เป็นส่วนสว่างของภาพเอาไว้ให้มากที่สุด ซึ่งนั่นจะทำให้ภาพบริเวณอื่นๆ โดยรวมอันเดอร์ลง (อย่างภาพด้านบน) และต้องมา “ขุด” เอาใน Software และมันก็ทำได้ดี

หลายท่านอาจสงสัยว่า การที่มันมี DR สูง แล้วมันมีประโยชน์อย่างไรกับงาน Wedding ? … ผมอยากให้ลองดูภาพด้านล่างนี้ … ซึ่งถ่ายที่โรงแรม เพนนินซูล่าในช่วงเวลาแต่งหน้าฯ โดยปกติแล้วเราจะต้องเลือกว่าจะถ่ายบ่าวสาวในห้อง แล้วปล่อยให้วิวภายนอกโอเวอร์ไป หรือบางครั้งก็อาจจะถ่ายให้วิวภายนอกพอดี แล้วให้บ่าวสาวเป็นเงาดำ ( Silhouette ) แต่การที่กล้องมี DR ที่กว้าง จะทำให้เรามีทางเลือกเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่างคือ ถ่ายให้มีรายละเอียดทั้งบ่าวสาว และวิวภายนอกอีกด้วย … แต่โดยความจริงแล้ว ปัญหานี้แก้ง่ายมาก แค่พกไฟมือถือไปสักหนึ่งดวงก็ใช้ได้แล้ว แต่อย่างที่บอกคือมันทำได้ ส่วนจะใช้ความสามารถนี้หรือไม่ ช่างภาพเป็นคนเลือก

รีวิว Nikon D750

ส่วนภาพล่าง เป็นจังหวะเดินเข้างานของบ่าวสาว ปัญหาคือแสงตกที่แบบไม่เท่ากัน โดยตกที่ชุดเป็นจุดสว่างมาก ภาพนี้ใช้ระบบวัดแสง Highlight Weight เพื่อรักษา Highlight เอาไว้ เมื่อกลับมาทำงานใน Lightroom ก็ปรับความสว่าง รวมทั้ง Dodge , Burn จนได้ภาพที่ต้องการ

AE 0978
Nikon D750 + 14-24 f/2.8
รีวิว Nikon D750
Lightroom correction

สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างก็คือ … ไม่เพียงแต่มันดึงส่วนมืดได้มาก แต่ Skin tone ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เอาตัวรอดได้หากเจอภาวะแสงที่น้อย เราสามารถที่จะตั้ง ISO 100 แล้วถ่ายมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะติดอันเดอร์เยอะ แต่กลับมาแล้วค่อยเอามา “ขุด” เอาใน Software ก็ยังถือว่าเอาไปใช้งานไหว ถึงจะไม่ได้ดีที่สุดของกล้อง แต่ก็ได้ภาพ … แต่อย่างที่บอกคือ อย่าใช้ ถ้ามันไม่จำเป็นจริงๆ .. ถ่ายให้ดีที่สุดจะดีกว่า …

619
Nikon D750 + 85 f/1.8

ISO Invariance
หัวข้อนี้หมายถึงความสามารถของกล้อง ที่จะถ่ายภาพด้วย ISO ใดๆ ก็ได้ แล้วจะให้ภาพที่คุณภาพเทียบเท่ากัน เช่น ภาพๆ หนึ่ง ต้องถ่ายด้วย iso 6400 ถึงจะได้ค่าการรับแสงที่พอดี แต่คุณถ่ายด้วย iso 100 (ซึ่งภาพจะ under ไป 6 stop) แต่เมื่อคุณเอาภาพที่ถ่ายด้วย iso 100 นี้ ไปดึงใน LR คุณภาพ ภาพที่ได้ จะได้ใกล้เคียงกับการถ่ายด้วย Native ISO 6400 หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า ISOless

รีวิว Nikon D750
Nikon D750 + 20 f/1.8 Dx Corp ISO 2800

High ISO performance
D750 มีคุณภาพไฟล์ที่ ISO สูงๆ ดีมาก แต่ตอนนี้คงต้องหลีกทางให้กับ D6 พี่ใหญ่ของมัน … ระดับคุณภาพไฟล์ของ D750 ที่ ISO 6400 ยังพอให้เอาตัวรอดได้ และหากมีความจำเป็นจริงๆ 12800 ก็ช่วยชีวิตคุณได้ในบางกรณี แต่อยากจะบอกว่า ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าใช้ ISO สูงมาก มันทำได้ แต่ถ้าไม่ทำจะดีกว่า … ภาพด้านบนนี้ถ่ายด้วย ISO 2800 ซึ่ง Skin tone ที่ได้นั้น น่าประทับใจ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแสง และคุณภาพของแสง (CRI ของแสง) ด้วย …

รีวิว Nikon D750
Nikon D750 + 105 mm. f/1.4

Weight
D750 เป็นกล้อง DSLR ที่มีน้ำหนักเบา โดยน้ำหนักของ Body อยู่ที่ 750 g (camera body only) ซึ่งถือว่าเบามากสำหรับ DSLR ,ในสายงาน Wedding นั้น ช่างภาพมักจะมีกล้องอยู่สองตัว และแต่ละตัวก็จะติดเลนส์ต่างกัน ซึ่งมักจะเป็นเลนส์มุมกว้างหนึ่งตัว และเลนส์ 50 mm. หรือ 85 mm. หนึ่งตัว ทั้งนี้แล้วแต่ช่างภาพท่านนั้นจะถนัดเลนส์ในช่วงไหน ส่วนตัวผมเองนั้นมักจะติดเลนส์ 20 mm. 1.8 และ 14-24 f/2.8 ( 14 – 24 f/2.8 จะติดเอาไว้ในช่วงเดินเข้า , ตัดเค้ก และโยนดอกไม้ ส่วนช่วงเวลาอื่น จะใช้ 20 mm. เป็นหลัก) กับเลนส์ 58 mm. 1.4 ซึ่งเลนส์คู่นี้กับ Body D750 สองตัว ก็ถือว่าน้ำหนักเบามากเมื่อเทียบกับ DSLR รุ่นอื่นๆ

รีวิว Nikon D750
Nikon D750 + 14 – 24 f/2.8

Dual SD card slot
ในปัจจุบัน ราคา SD Card ก็ลดลงมาเรื่อยๆ การที่ D750 สามารถใส่ SD Card ได้สอง slot ทำให้เราสามารถใส่การ์ดเพื่อ Backup ไฟล์ภาพในทันทีที่กดชัตเตอร์ได้เลย ลดความเสี่ยงที่จะเกิด Card error ลงไปได้เกือบหมด ยกเว้นว่าการ์ดทั้งสอง slot จะเสียพร้อมกันซึ่งเป็นไปได้ยากมาก

การ Backup นี้ เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้การ์ดช่องแรก เป็น Raw แล้วช่องที่สองเป็น jpg หรือว่าจะให้เป็น Raw ทั้งสองช่องเลยก็ได้ ส่วนตัวผมเองจะ Backup เป็น Raw ทั้งสองช่อง แต่การ Backup แบบนี้ ผมจะใช้กับกล้องพิธีการเป็นหลัก และเนื่องจากล้องพิธีการไม่ได้ต้องการความเร็วในการเขียนลงการ์ดมากนัก ทำให้เราไม่จะเป็นต้องซื้อการ์ดความเร็วสูงอีกด้วย / รีวิว nikon d750

รีวิว Nikon D750
Nikon D750 + 14-24 mm. f/2.8

Flexible LCD
จอที่พับได้ ทำให้สามารถถ่ายภาพในมุมสูงและมุมต่ำได้สะดวก การจัดองค์ประกอบภาพแม่นยำ ในขณะที่กล้องที่ไม่สามารถพับจอได้ จะต้องอาศัยการถ่ายเผื่อสักหน่อย ส่วนกรณีที่กังวลเรื่องความแข็งแรงของจอนั้น เท่าที่ผมใช้งานมาหลายปีก็ยังไม่เจอปัญหาอะไร

รีวิว Nikon D750
Nikon D750 + 50 mm f/1.4

Buffer 19 shot
หากเราตั้งคุณภาพไฟล์ Raw ให้เป็น 12 bit , Compress แล้ว เราจะได้ Buffer ถึง 19 ภาพ นั่นเพียงพอต่อการถ่ายต่อเนื่องในจังหวะสำคัญๆ เช่น เดินเข้า โยนดอกไม้ หรือจังหวะที่ไม่ได้เน้นความเร็วสูงมากๆ อย่างตัดเค้กก็ได้เช่นกัน ข้อดีทางอ้อมที่มาพร้อมกับหัวข้อนี้ก็คือ เราไม่ต้องซื้อการ์ดความเร็วสูงมากที่มีราคาสูง ใช้การ์ดความเร็วปกติก็เพียงพอกับการใช้งาน ยกเว้นคุณเป็นคนถ่ายภาพต่อเนื่องยาวๆ ซึ่งกรณีนั้นจำเป็นต้องใช้การ์ดความเร็วสูง

รีวิว Nikon D750
Nikon D750 + 50 mm f/1.4

Continuous shot : 6.5 fps
ในสไตล์การทำงานของผม ความเร็วในถ่ายถ่ายภาพต่อเนื่อง มีความจำเป็นพอๆ กับจำนวน Buffer ในหัวข้อด้านบน เนื่องจากในการถ่ายแบบจับจังหวะ อารมณ์ เล่าเรื่องราวแล้ว กล้องที่มีเรทการถ่ายภาพต่อเนื่องสูง จะทำให้เราสามารถเลือกเอาจังหวะภาพที่ “ดีที่สุด” ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นได้ ที่สำคัญคือ D750 สามารถเลือกได้อีกว่า ในโหมด CL จะตั้งความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องที่ความเร็วเท่าไหร่ กี่ FPS ก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินความเร็วสูงสุดของกล้อง (6.5 fps) ซึ่งผมเองตั้งไว้ที่ 5 fps

0124 web
Nikon D750 + 85 mm f/1.8

Focus 3D tracking
ฟังก์ชั่นนี้ของ D750 (และของ Nikon อีกหลายๆ รุ่น) สามารถใช้งานได้จริง ภาพด้านบนเป็นตัวอย่างภาพที่ใช้โหมดนี้ แต่มีข้อแนะนำนิดหน่อยก็คือ หากโฟกัสแล้วจัดองค์ประกอบภาพใหม่ บางครั้งอาจจะหลุดกรอบโฟกัสได้ แต่ถ้าในช่วงเดินเข้าฯ ช่วงโปรยดอกไม้ หรือจังหวะอื่นๆ ที่บ่าวสาวเดินเข้าหากล้อง เท่าที่ใช้งานมาก็ทำงานได้ดี ..

:: Conclution ::

จากเวลากว่า 5 ปี จากจำนวนภาพหลายแสนชอต ผมเองใช้งาน D750 มาพอที่จะบอกได้ว่า มันเป็น DSLR ที่มีความสมดุลย์ เหมาะมากสำหรับช่างภาพงานแต่งงาน ข้อดี ข้อเสีย ในความเห็นผมก็มีดังนี้ครับ

:: Pro ::

– Exposure Latitude (DR) กว้างมาก ถ้าไม่มั่วหนักจริงๆ ขุดกัน 7.5 stop ยังมีรูปกลับบ้าน
– ISO Invariance ที่ยอดเยี่ยม
– Skin tone สวยในแบบ Nikon ไม่เข้มข้น จัดจ้านเหมือนในอดีตแล้ว
– Battery ใช้งานได้นาน
– มี Wifi
– SD Card สองช่อง
– จอพับได้
– น้ำหนักเบา
– ถ่ายต่อเนื่องได้ 6.5 fps และสามารถตั้งได้เอง (ผมตั้งไว้ 5 fps)
– Buffer 19 ภาพ ( 12 bit / Compress )
– 3D Tracking ใช้งานได้ดี
– โหมดโฟกัสหลากหลาย ใช้งานได้ง่าย
– โฟกัสได้ที่ -3 Ev
– ปรับเปลี่ยนการโฟกัสจาก Single shot –> Continuous ในขณะที่ตามองช่องมองภาพได้เลย รวดเร็ว ไม่พลาดชอตสำคัญ
– มีแฟลชหัวกล้องที่ใช้งานได้

 

:: Con ::

– ชัตเตอร์แบบเงียบ มันไม่เงียบ
– มีอาการค้างบ้าง เท่าที่ใช้มาก็เจอ 2 ครั้ง แต่หลังจาก Update firmware แล้วก็ไม่เจอปัญหาอีก
– ความเร็วในการ Track เข้าหาโฟกัส (คือยกกล้องขึ้นมาแล้วกดทันที) ยังมีวืดวาดอยู่บางครั้ง ถ้าต้องการจะให้การ track เข้าหาโฟกัสเร็ว ๆ ก็ต้องไปเล่นรุ่นที่ใหญ่ขึ้น แต่แก้ได้โดยเปลี่ยนเป็นโฟกัสแบบกลุ่ม
– สำหรับคนที่มักจะปรับ ISO บ่อยๆ บางครั้งมือจะพลาดไปโดนปุ่ม Quality ได้

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบนะครับ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังเล็งๆ กล้องรุ่นนี้อยู่ ถึงมันจะไม่ได้เลิศในทุกๆ ด้าน แต่ผมก็เลือกให้มันเป็นกล้องประจำตัวที่ใช้ทำงานอยู่ ณ เวลานี้ทั้งสองตัว … แล้วพบกับในบทความหน้าครับ 🙂

TonnamLamtan.Com
Tel. 089-117-8256

Comments are closed.